Change Language :

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

ข้อมูลและสถิติ

บทความ/มุมมอง

นโยบาย

สิทธิและกฎหมาย

ทำงานกับมูลนิธิฯ

สาส์นจากประธานมูลนิธิฯ

เว็บไซต์ดูแลสุขภาพสำหรับคุณผู้หญิงไทย

 

ศ. เกียรติคุณ น.พ. กำแหง จาตุรจินดา

 

* MF Fathalla, FIGO Past President

 

" ผู้หญิงที่ตาย (จากการแท้งไม่ปลอดภัย)
ไม่ได้ตายจากโรคที่เรารักษาไม่ได้
……แต่เธอเหล่านั้นตายเพราะ…
สังคมไม่เห็นว่าชีวิตของเธอมีคุณค่าพอที่จะได้รับการดูแลรักษา"

 

ผมได้ย้ายกลับมารับใช้บ้านเกิดเมื่อปี 2511 สี่สิบปีมาแล้ว โดยกลับมารับราชการที่คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราช ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนแพทย์อันดับต้นๆของประเทศ ที่ รงพ. ศิริราชมีตึกผู้ป่วย (วอร์ด) ติดเชื้อมีเตียงรับคนไข้ได้ 35 เตียง และก็สมชื่อตึกเสียด้วย เพราะทั้งตึกมีแต่คนไข้ติดเชื้อทั้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะผลสืบเนื่องจากการทำแท้งเถื่อน คนไข้เหล่านั้นอยู่ในภาวะต่างๆของอาการแทรกซ้อน บ้างก็มีการทะลุของอวัยวะ (fistula) เช่นมดลูกทะลุ ลำไส้ทะลุ บ้างก็ผอมผ่ายจากการอักเสบของตับและอวัยวะในอุ้งเชิงกราน บางคนมีอาการดีซ่านขั้นรุนแรง บางคนช็อคจากการติดเชื้อและตกเลือด บางรายต้องล้างไต มีอัตราส่วนของการเสียชีวิตและการพิการอย่างสูงผิดปกติทีเดียว

 

หนึ่งปีผ่านไป ผมย้ายมาสอนที่คณะแพทยศาสตร์ ร.พ. รามาธิบดี ซึ่งเพิ่งเปิดเป็นสถาบันสอนการแพทย์แห่งใหม่ในกรุงเทพ ก็ได้เจอะเจอประสบการณ์แบบเดียวกับที่ศิริราช จะต่างกันก็ที่จำนวนเตียงลดลง มีเพียง 25 เตียง

 

ผมยังจำเหตุการณ์คืนหนึ่งได้เป็นอย่างดี ประมาณตี 3 ผมถูกตามตัวให้ไปดูคนไข้ อายุราวยี่สิบปีต้นๆ เธอมีไข้และปวดท้องอย่างมาก มี dischargeที่ มีกลิ่นรุนแรง จากประวัติคนไข้เธอตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม เพราะกำลังเรียนวิทยาลัยครูปีที่ 3 จึงไม่พร้อมจะมีลูก เพือนแนะนำให้ไปทำแท้งโดยไม่ได้ปรึกษาพ่อแม่ อีกหนึ่งชั่วโมงครึ่งต่อมาผมต้องผ่าตัดเธอ ใช้เวลาร่วมสามชั่วโมง เธอปลอดภัยจากการผ่าตัดแต่ต้องสูญเสียมดลูกไป

 

สี่สิบผ่านไป นักศึกษาแพทย์รุ่นปัจจุบันไม่มีโอกาสพบเหตุการณ์ดังที่ผมกล่าวถึงนี้อีกแล้ว ทั้งนี้เพราะมีบริการทำแท้งที่ปลอดภัยโดยองค์กรเอกชน (NGOs) และโรงพยาบาลบางแห่ง ในกรุงเทพและเขตปริมณฑล (ทั้งๆที่มีตำรวจคอยราวีอยู่เนืองๆ) แต่อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลในต่างจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศยังมีเด็กสาวและแม่วัยสาวอีกมากมายที่ยังต้องเสียชีวิต และทนทุกข์ทรมานกับการตายและพิการจากการทำแท้งเถื่อนอยู่ เป็นเรื่องน่าเศร้าเหลือเกินที่ยังมีการเสียชีวิตจากโรคที่เราป้องกันได้ ทั้งๆที่วิวัฒนาการการทำแท้งก้าวไปไกลถึงไหนๆแล้ว ปัจจุบันนี้มีตัวยาที่หากใช้อย่างถูกต้องแล้วจะสามารถยุติการตั้งครรภ์อ่อนๆได้ผลดีถึงราว 98% (ระยะครรภ์ 9 อาทิตย์) นอกจากนั้นแล้วยังมีเครื่องดูดมือถือที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ระยะ 12 อาทิตย์ได้ผลดีถึง 99% เช่นกัน เมื่อสี่สิบปีก่อนตอนทีผมกลับมารับใช้ชาตินั้น เทคโนโลยีเหล่านี้ยังอยู่เหนือความคิดเลยครับ

 

กฎหมายที่บัญญัติตั้งแต่ปี 2499 ยังคงใช้อยู่ ไม่ต่างกับกฎหมายในประเทศอังกฤษสมัยที่ผมยังทำงานอยู่(แต่มีการแก้ไขกฎหมายในปี 2512) กฎหมายกำหนดว่าให้ผู้หญิงทำแท้งได้โดยผู้มีวิชาชีพแพทย์ถ้าการตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิงนั้น หรือหากการตั้งครรภ์นั้นเป็นผลมาจากการถูกข่มขืนหรือจากอาชญากรรมทางเพศที่ได้ระบุไว้ คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดีได้ให้บริการทำแท้งภายใต้กฎหมายนี้มาเป็นเวลา 35 ปี โดยตีความหมายของสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ว่าครอบคลุมทั้งสุขภาพทางจิตและสุขภาพทางกาย (ตามคำนิยามของ WHO)

 

หลังจากที่ผมเกษียณอายุจากราชการ และจากตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ในปี 2540 แล้ว ภาระหน้าที่ของผมที่มีต่อสุขภาพของสตรี หนุนนำให้ผมได้สมัครเข้ารับตำแหน่งประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ต่ออีกห้าปี และเมื่อครบวาระการทำงานในตำแหน่งนี้ของผมในปี 2549 งานของผมที่ได้ร่วมกับกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข ในด้านที่เกี่ยวกับสุขภาพของสตรีก็ยังไม่เสร็จสิ้น

 

สตรีไทยก็ยังเสียชิวิตจากการทำแท้งเถื่อนอยู่ทั่วประเทศ ภาระผูกพันของผมในเรื่องนี้จึงเป็นเหตุให้ผมได้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธ์ของสตรี(แห่งประเทศไทย) หรือ สอส เพื่อผลักดันความปรารถนาอันแรงกล้าของผมในการที่จะเพิ่มการเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัยให้แก่สตรีไทยทั้งหลาย เพื่อเธอเหล่านั้นจะได้ไม่ต้องสูญเสียชีวิตและพิการจากโรคที่ป้องกันได้อีกต่อไป ผมยังฝันว่า……… สักวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้สตรีไทยจะมีโอกาสใช้สิทธิอันพึงมีในการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย และถูกต้องเท่าเทียมกับสตรีในอารยะประเทศทั้งหลาย

 


ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์กำแหง จาตุรจินดา

ประธานมูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรี (แห่งประเทศไทย) สอส.
มิถุนายน พ.ศ. 2551

 

ข่าวสาร กิจกรรม

 

การประชุมนานาชาติครั้งที่ 2

เรื่องการแท้งที่ไม่ปลอดภัย วันที่ 22-25 มกราคม 2556
สถานที่กรุงเทพมหานคร

จัดอบรมแพทย์และพยาบาล

เรื่องการป้องกันการแท้งที่ไม่ปลอดภัยและการใช้ Manual Vacuum Aspiration (MVA) เดือน กุมภาพันธ์ 2554

การประชุมนานาชาติครั้งที่ 1

เรื่องสุขภาพผู้หญิงและการแท้งที่ไม่ปลอดภัย วันที่ 20-23 มกราคม 2553

 

 
 

มูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรี (แห่งประเทศไทย) สอส.
โทรศัพท์ :
0-2575-0500-1   |   โทรสาร :0-2575-0501  |   อีเมล์ : info@womenhealth.or.th
ที่อยู่ :48/38 เดอะพาราไดซ์ ถนนแจ้งวัฒนะซอย 14 หลักสี่ กรุงเทพ 10210

Copyright © 2010 สอส แห่งประเทศไทย. All Rights Reserved.