มุมมองทางวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยีทางการแพทย์
เทคโนโลยีในการทำแท้งในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก การทำแท้งที่ปลอดภัยมี 2 วิธีคือ การใช้ยา หรือ Medical Termination of Pregnancy-MTOP และ การใช้เครื่องมือทางศัลยกรรม หรือ Surgical Termination of Pregnancy – STOP
1. การทำแท้งโดยการใช้ยา
(Medical Termination of Pregnancy - MTOP : As Early As Possible, As Late As Necessary) เป็นวิธีที่ดีสุดและมีประสิทธิภาพที่สุดในการยุติการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง องค์การอนามัยโลกได้บรรจุ Mifepristone (RU486) และ Misoprostol (Cytotec) ในบัญชียาหลักเพื่อใช้ในการยุติการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก (อายุครรภ์น้อยกว่า 63 วัน) ซึ่งได้ผล 95-100 % รวมทั้งใช้การรักษาอาการตกเลือดหลังคลอดได้ด้วย สมาพันธ์สูตินรีแพทย์นานาชาติ (Federation International of Obstetricians and Gynecologists-FIGO) ก็ได้แนะนำให้ทั่วโลกใช้ยานี้ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วใช้ MTOP มานานกว่า 20 ปีแล้ว รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้แก่ จีน เวียดนาม อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และกัมพูชา แต่องค์การอาหารและยาของไทยอนุญาตให้ใช้ Mifepristone เพื่อการวิจัยเท่านั้น และตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาองค์การอาหารและยาได้จัดให้ Misoprostol เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ในโรงพยาบาลเท่านั้น ทำให้มีการลักลอบซื้อขายยาในราคาสูงมาก ถึงเม็ดละ 500-7,000 บาท (ราคาทุนประมาณ 17 บาท)
ณ ปัจจุบันทั่วโลกมีการทำแท้งโดยการใช้ยาอยู่ 3 วิธี ในกรณีที่ครรภ์ยังมีอายุไม่มากคือ
- การใช้ mifepristone ร่วมกับ misoprostol ซึ่งรายละเอียดสามารถเข้าไปดูได้ที่
http://www.medicationabortion.com/mifepristone/index.html
- การใช้ methotrexate และ misoprostol ซึ่งรายละเอียดสามารถเข้าไปดูได้ที่
http://www.medicationabortion.com/methotrexate/index.html
- การใช้ misoprostol เพียงอย่างเดียว ซึ่งรายละเอียดสามารถเข้าไปดูได้ที่
http://www.medicationabortion.com/misoprostol/index.html
2. การทำแท้งโดยการใช้เครื่องมือทางศัลยกรรม
(Surgical Termination of Pregnancy Surgical Abortion - STOP) STOP เป็น Invasive Procedure ที่ควรใช้เมื่อไม่มี MTOP หรือในบางกรณีที่จำเป็นเท่านั้น องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าการยุติการตั้งครรภ์ทางศัลยกรรมที่ปลอดภัยควรทำโดยการ "ดูดมดลูก" โดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศ (Vacuum Aspiration) แทนการ "ขูดมดลูก" โดยเหล็กแหลม (D&C with Sharp Curette) และให้ใช้ D&C เมื่อไม่มีเครืองดูดสุญญากาศเท่านั้น
เครื่องดูดมดลูกสุญญากาศ มี 2 ชนิด คือ
- เครื่องดูดไฟฟ้า (Electric Vauum Aspiration – EVA)
- เครื่องดูดมือถือ (Manual Vacuum Aspiration – MVA)
ข้อดีของ "เครื่องดูดมือถือ (MVA)" คือ มีความปลอดภัย ใช้ง่าย สะดวกและสามารถใช้ได้หลายครั้งโดยการแช่น้ำยาฆ่าเชื้อหรืออบด้วยแก๊ส ผู้รับบริการได้รับความเจ็บปวดน้อยกว่าการขูดมดลูก ไม่จำเป็นต้องใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย ผู้รับบริการจึงไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาลหลังได้รับบริการซึ่งช่วยลดอัตราการใช้เตียงผู้ป่วยและค่าใช้จ่าย ที่สำคัญที่สุดคือการใช้เครื่องดูดมือถือ MVA มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมดลูกทะลุน้อยกว่าการขูดมดลูก (D&C) ด้วย Sharp Curette นอกจากนี้ยังสามารถใช้เครื่องดูดมือถือ MVA ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคอื่นๆทางสูตินรีเวชแทนการขูดมดลูกได้ด้วย เช่น ใช้ในการทำ Endometrial Biopsy และรักษา DUB, Blighted Ovum และรักษา Incomplete abortion เป็นต้น
WHO และ FIGO ได้แนะนำให้แพทย์ทั่วโลกใช้เครื่องดูดสุญญากาศ (Vacuum Aspiration) แบบไฟฟ้า หรือ เครื่องดูดมือถือ MVA ในการรักษาการแท้งไม่สมบูรณ์ การตกเลือดหลังคลอดหรือหลังแท้ง การยุติการตั้งครรภ์ทางศัลยกรรม และการทำ Intra-Uterine Evacuation แทนการ "ขูดมดลูก" ด้วย Sharp Curettage (D&C) ทุกกรณี และให้ใช้ D&C ในกรณีที่ไม่มีเครื่องดูดสุญญากาศไฟฟ้า หรือ เครื่องดูดมือถือ MVA เท่านั้น ปัจจุบันแพทย์เกือบทั่วโลก ไม่ใช้ D&C ในการขูดมดลูกแล้ว แต่แพทย์ไทยยังคงใช้เครื่องมือที่ล้าหลังนี้ในการยุติการตั้งครรภ์ทางศัลยกรรมรวมทั้งการทำหัตถการทางสูตินรีเวชอื่นๆ และปัจจุบันนี้โรงเรียนแพทย์ไทยยังคงสอนวิธีที่ล้าสมัยนี้อย่างต่อเนื่อง และบ่อยครั้งที่พบว่าแพทย์ทำการขูดมดลูกให้ผู้รับบริการและทำให้มดลูกทะลุจนผู้รับบริการต้องเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าใจ
ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา สำนักงานแพทยสภา ได้กำหนดให้การใช้วิธี "ดูดมดลูก" ด้วยสุญญากาศ (MVA) เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมแทนการ "ขูดมดลูก" ด้วย D&C
หากท่านผู้ใดสนใจศึกษารายละเอียดเรื่องการจัดให้บริการก่อน ระหว่าง และหลังการยุติการตั้งครรภ์สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากคู่มือการทำแท้งที่ปลอดภัย และการจัดบริการที่มีคุณภาพขององค์การอนามัยโลก ตามลิงค์ที่ให้ไว้ด้านล่างนี้ ซึ่งยังไม่มีฉบับภาษาไทย
สนใจดูรายละเอียดเรื่องนี้แนะนำ :
- คู่มือการทำยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก (Safe abortion guideline WHO)
- คู่มือการยุติการตั้งครรภ์ของราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์ ประเทศอังกฤษ (Induced abortion-RCOG-UK)
- ความเห็นประสบการณ์ และผลงานด้านวิชาการ/เทคโนโลยีการแพทย์ ในการป้องกันการแท้งที่ไม่ปลอดภัยของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
บล็อกแสดงความคิดเห็นข้างล่าง
Commenting System
|