ปัญหาการแท้งที่ไม่ปลอดภัย
มุมมองทางมิติของสังคมและการแพทย์
ปัญหาการแท้งไม่ปลอดภัยส่วนใหญ่เกิดจาการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และสาเหตุของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการท้องไม่พร้อมส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาและอนามัยการเจริญพันธุ์ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การใช้วิธีคุมกำเนิดที่ไม่ถูกต้อง การเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิดหรืออายที่จะไปขอรับบริการ เพราะค่านิยมของสังคมไทยไม่ยอมรับการคุมกำเนิดในหญิงที่ยังไม่แต่งงาน นอกจากนี้ปัญหาการท้องไม่พร้อมไม่ได้เกิดกับวัยรุ่นเท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกกลุ่มอายุ ทุกอาชีพ และทุกระดับการศึกษา ร้อยละ 60 ของผู้หญิงที่ทำแท้งเป็นหญิงที่แต่งงานแล้วซึ่งมีทั้งที่เป็นแม่บ้าน ข้าราชการ นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล และอื่นๆ
วัยรุ่นและหญิงที่ท้องไม่พร้อม แต่ละคนมีเหตุผลความจำเป็นที่หลากหลายที่ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ เช่น ท้องในวัยรุ่น วัยเรียน มีลูกมาก มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ครอบครัว สังคม ล้มเหลวจากการคุมกำเนิด ทารกในครรภ์มีปัญหาสุขภาพมีความพิการหรือมีโรคทางพันธุกรรม ผู้หญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ต่อหรือคลอดบุตรด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจการศึกษา ครอบครัวและสังคม และมักถูกละเลยให้แก้ไขปัญหาตามลำพัง ไม่กล้าปรึกษาพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือครู ขาดผู้ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือที่ถูกต้อง นอกจากนี้วัยรุ่นที่อยู่ในระบบการศึกษายังถูกกดดันโดยประเพณี วัฒนธรรมของสังคมและกฎระเบียบของสถานศึกษาบางแห่งที่ยังไม่เอื้ออำนวยให้สามารถแก้ไขปัญหา โดยรักษาสภาพการเป็นนักเรียนนักศึกษาและสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาขณะตั้งครรภ์ได้ ขณะเดียวกันหากจำใจต้องตั้งครรภ์ต่อก็จะมีผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ตลอดจนอนาคตทางการศึกษา และการที่สรีระร่างกายของวัยรุ่นโดยเฉพาะที่มีที่อายุน้อยๆ ยังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์จึงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตทั้งแม่และทารกในครรภ์ เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด หรือคลอดเด็กน้ำหนักตัวน้อย เลี้ยงยากเติบโตช้าและเมื่อเติบโตขึ้นจะเป็นเด็กมีสุขภาพมีร่างกายและสติปัญญาไม่สมบูรณ์ หรือเสี่ยงต่อการคลอดยากหรือตกเลือดเพราะกระดูกเชิงกรานยังไม่ขยายตัวเต็มที่ นอกจากนี้แม่วัยรุ่นยังไม่มีความพร้อมทั้งด้านจิตใจ เศรษฐกิจ สังคมและวุฒิภาวะด้านจิตใจอารมณ์ที่จะเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตอย่างมีคุณภาพได้ เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาการทอดทิ้งหรือทารุณกรรมเด็กหรือแม้กระทั่งฆ่าทารกหลังคลอดซึ่งพบเห็นได้บ่อยๆ นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นและแม่ที่ท้องไม่พร้อมมีโอกาสเป็นแม่วัยร่นและท้องไม่พร้อมอีกด้วย
การเข้าสู่ภาวะตั้งครรภ์ทำให้ผู้หญิงมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และมีความเครียดเพิ่มขึ้นจากปกติแม้จะเป็นการตั้งครรภ์ในสถานการณ์ปกติหรือแม้ในคนที่มีสามีและมีครอบครัวที่อบอุ่น การตั้งครรภ์ในสภาวะที่ไม่พร้อมยิ่งเพิ่มความเครียดสูงให้แก่ผู้หญิง วัยรุ่นหญิงและผู้หญิงท้องไม่พร้อมส่วนใหญ่จะขาดข้อมูลและเข้าไม่ถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย ถูกทอดทิ้งและละเลยให้เผชิญปัญหาตามลำพัง ถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม ขาดโอกาสและหมดอนาคตทางการศึกษา ถูกจำกัดสิทธิและทางเลือก การให้คำปรึกษาที่ผู้หญิงกลุ่มนี้ได้รับจากผู้ให้บริการ แพทย์ พยาบาลและผู้เกี่ยวข้องมักจะเป็นการให้คำปรึกษาที่ชี้นำ (Direct Counseling) คือชี้นำให้เลือกและทางเลือกเดียวที่มีให้คือ การแนะนำให้ตั้งครรภ์ต่อและฝากครรภ์ ในขณะที่ทางเลือกอื่นรวมทั้งบริการทางสังคมที่จะสนับสนุนให้การตั้งครรภ์นั้นดำเนินต่อไปอย่างมีคุณภาพ ยังมีไม่ครอบคลุมและไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่นสถาน ศึกษาแต่ละแห่งมีมาตรการที่แตกต่างกันในการช่วยเหลือวัยรุ่นตั้งครรภ์ในวัยเรียน สถานสงเคราะห์สำหรับพักพิงเพื่อรอคลอดมีไม่ครบทุกพื้นที่ วัยรุ่นและหญิงที่ไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ต่อด้วยเหตุผลต่างๆ ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับตัวเองแทนการตั้งครรภ์ต่อ และพยายามที่จะสิ้นสุดการตั้งครรภ์ด้วยวิธีต่างๆ และยังต้องถูกประณามและถูกดูหมิ่นเหยียดหยามว่าเป็นคนไม่ดี คำว่า "วัยรุ่นใจแตก" "แม่โหด" "แม่ทมิฬ" และ "แม่ใจยักษ์" เป็นคำที่สื่อและสังคมใช้ประณามผู้หญิงที่มีปัญหาท้องไม่พร้อม และผู้หญิงที่ทำแท้งโดยสังคมไม่ได้คำนึงถึงสาเหตุของการตั้งครรภ์หรือเหตุผลของการทำแท้งของผู้หญิงเหล่านั้น
การทำแท้งจะปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิตของหญิงตั้งครรภ์มากที่สุด เมื่อกระทำโดยเร็วที่สุดโดยเฉพาะในไตรมาสแรกอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์เป็นช่วงที่ทำได้ง่ายและปลอดภัยที่สุด แต่ช่องว่างและข้อจำกัดหลายประการที่กล่าวมาแล้ว เป็นสาเหตุให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยได้ทันท่วงที จึงพบว่าร้อยละ 57% ของผู้หญิงทำแท้งเมื่ออายุครรภ์ระหว่าง 9–15 สัปดาห์ และร้อยละ 16 ทำแท้งเมื่ออายุครรภ์ 20–28 สัปดาห์ (กรมอนามัยปี 2542) ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุภาพและชีวิตอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากกระทำโดยผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย ์หรือกระทำในสถานที่ที่ไม่สะอาดและใช้วิธีการและเครื่องมือไม่ได้มาตรฐาน
อ่านบทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง :
1. การทำแท้งกับความเท่าเทียม |
|
2. ครูแพทย์กับการทำแท้ง |
|
3. แง้มห้วใจ..คนรับรีดลูก |
|
4. ไม่คิดจะติดเร็วขนาดนั้น ท้องก่อนแต่ง |
|
5. ชีวิต...กว่าจะรู้เดียงสา ต้นอ้อ – ปอย |
|
6. สุขภาพ ความหวัง และคุณภาพชีวิตของหญิงไทย ปัจจุบันสู่อนาคต |
|
7. คำสัมภาษณ์ของอธิบดีกรมอนามัย |
|
8. แพทยสภา อบรมหลักสูตรใน ร.ร.แพทย์ |
|
บล็อคแสดงความคิดเห็นข้างล่าง
Commenting System
|